สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระหฤทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยพระกรุณาธิคุณต่อเยาวชน อันจะเห็นได้จากพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะองค์ประธานก่อตั้งมูลนิธิฯ เมื่อปี พ.ศ.2525 องค์เจ้าของกองทุน และองค์ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ
ในฐานะองค์ประธานก่อตั้งมูลนิธิฯ
- เสด็จทรงเปิดการประชุมปฐมฤกษ์มูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2525 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งกองทุนถาวรในพระนาม “ กัลยาณิวัฒนา ” 100,000 บาท เนื่องในวโรกาสครบ 5 รอบ วันประสูติ เมื่อปี พ.ศ.2526
- พระราชทานพระวโรกาสให้คณะกรรมการดำเนินงานเข้าเฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำ และทูลเกล้าฯ ถวายเข็ม “ พุ่มเพชร ” สัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ ในฐานะองค์ประธานก่อตั้งมูลนิธิฯ ที่วังเลอดีส เมื่อปี พ.ศ.2526
- พระราชทานทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยรังสิต ทูลเกล้าฯ ถวายปีละ 5 ทุน ให้แก่เยาวชนผู้รับทุนมูลนิธิฯ 5 คน ที่จบชั้น ม.6 ได้เข้าศึกษาต่อตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 จนจบหลักสูตร อนึ่ง เนื่องจากล้วนเป็นเยาวชนในต่างจังหวัดทั้งสิ้น มิได้มีที่พักในกรุงเทพฯ แม้มูลนิธิฯ จะได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัยให้อยู่หอพักโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็ยังมีภาระที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นค่าเสื้อผ้า ค่าอาหารและเครื่องประกอบการเรียน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ประมาณเดือนละ 30,000 บาท ต่อคน มูลนิธิฯ จึงโดยเสด็จพระราชกุศลในส่วนนี้ ปีละ 15,000 บาท เมื่อทรงทราบได้ทรงทักท้วง และพระราชทานเงินพิเศษให้เยาวชนในพระอุปถัมภ์ 5 คน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวทุกเดือน ตลอดระยะเวลา 4 - 6 ปี ที่ศึกษารวมเป็นเงิน 650,000 บาท ด้วยทรงเห็นว่าเยาวชนขัดสนค่าใช้จ่ายมาก ไม่พอใช้ และพระราชทานเงินทุนการศึกษาให้เยาวชนในพระอุปถัมภ์ที่จังหวัดนครปฐมเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว 6,000 บาท เมื่อทรงทราบจากจดหมายว่า เยาวชนเดือดร้อนมาก และมารดาบาดเจ็บ
- ทรงพระกรุณาแนะนำให้สมาคมไทย-สวิส ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเลิกกิจการ บริจาคเงินให้มูลนิธิฯ 400,000 กว่าบาท เมื่อปี พ.ศ.2536
- พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติมในกองทุน “ กัลยาณิวัฒนา ” ตลอดเวลา และมีกองทุนรวม 800,800 บาท และเมื่อปี พ.ศ.2543 ได้พระราชทานเงิน 60,000 บาท สมทบ “ กองทุน 100 ปี สมเด็จย่า ” ในโอกาสที่มูลนิธิฯ จัดงาน “ ร่วมใจทอดผ้าป่ามหากุศลถวาย 100 ปี สมเด็จย่า ”
ในฐานะองค์เจ้าของทุนพระราชทาน
- ทรงมีพระเมตตาและทรงห่วงใยติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในพระอุปถัมภ์ทุกคนอย่างใกล้ชิด ดังเช่น
- พระราชทานพระวโรกาสให้เยาวชนมูลนิธิฯ ผู้รับทุนพระราชทานที่ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรังสิต 5 คน เข้าเฝ้าถวายตัว และรับพระราชทานพระโอวาท ณ วังเลอดีส เมื่อปี พ.ศ.2535
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายเสมอ หอมดอกพลอย เยาวชนในพระอุปถัมภ์ ในกองทุนพระนาม “ กัลยาณิวัฒนา ” ชั้น ปวช.2 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตน่าน กิ่ง อ.ภูเพียง เข้าเฝ้าในวโรกาสที่เสด็จทรงงานจังหวัดน่าน เมื่อปี พ.ศ.2542 ด้วยทรงนึกออกว่า ที่จังหวัดน่านมีเยาวชนมูลนิธิฯ ที่รับทุนพระองค์ท่าน โดยทรงให้เลขานุการในพระองค์มีหนังสือแจ้ง นายเสมอฯ โดยตรง
- ทอดพระเนตรจดหมายของเยาวชนทุกฉบับด้วยความสนพระทัย และติดตามความเป็นอยู่ของเยาวชนในพระอุปถัมภ์ทุกคน อีกทั้งทรงตอบจดหมายเยาวชนผู้รับทุนด้วยพระองค์เองตลอดเวลา 18 ปี ที่ทรงมีเยาวชนอยู่ใน พระอุปถัมภ์ และทรงมีจดหมายประทานความยินดีแก่เยาวชนที่จบการศึกษาด้วย ต่อมาปี พ.ศ.2544 ทรงมี
พระภารกิจมากขึ้น จึงทรงมอบหมายให้ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ รองประธานมูลนิธิฯ และประธานฝ่ายทุนการศึกษาเยาวชนในระบบโรงเรียน เป็นผู้ตอบจดหมายเยาวชนแทน
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายทุนการศึกษาเยาวชนในระบบโรงเรียน เข้าเฝ้า เมื่อปี พ.ศ.2547 ณ วังเลอดีส พร้อมด้วย นางสาวกรรณภรณ์ วงศ์ปิยะกุล ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิฯ เกี่ยวกับเยาวชนผู้รับทุนมูลนิธิฯ ในกองทุนพระนาม ทุนการกุศล สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ซึ่งศึกษา ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยทรงเป็นห่วงที่มีผลการเรียนต่ำมาก และเรียนชั้นละ 2 ปี กล่าวคือ เป็นนักเรียนแพทย์ปีที่หนึ่งและปีที่สอง ชั้นละ 2 ปี แต่ยังคงได้รับทุนพระราชทานต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนต่างสนับสนุนมิให้งดทุน แม้จะต้องเรียนซ้ำชั้น ด้วยพิจารณาเห็นว่า เป็นนักเรียนจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว เป็นเด็กเรียนดี ความประพฤติดี มีน้ำใจ มีความรู้ดียังช่วยทบทวนวิชาให้รุ่นน้องด้วย ทั้งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกลับไปรับใช้ประชาชนในจังหวัดบ้านเกิดของตน ซึ่งยากที่จะหานายแพทย์สมัครใจไปปฏิบัติงาน ณ ที่นั้น ทรงรับฟังปัญหาด้วยพระทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตา และได้ทราบว่าพระองค์เสด็จไปเยือนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทรงให้กำลังใจแก่อาจารย์ผู้สอนและเยาวชนด้วย ยังผลให้เยาวชนได้รับความสำเร็จในแต่ละปีการศึกษานับแต่นั้นเป็นต้นมา
สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้เป็นที่ประทับใจในพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตายิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ทรงห่วงใยในตัวเยาวชนในพระอุปถัมภ์เท่านั้น ยังทรงห่วงใยถึงอนาคตที่ประชาชนจะได้รับในการรักษาด้วย หากได้แพทย์ผู้ไม่มีความรู้ดีพอ ผลการรักษาจะถูกต้องสมบูรณ์ตามความมุ่งหมายหรือไม่ประการใด ทรงเสนอแนะให้เยาวชนเปลี่ยนวิชาเรียน แต่เยาวชนยืนยันที่จะเรียนวิชาแพทย์ดังเดิม ทั้งอาจารย์ผู้สอนก็รับรองว่าไม่เกินความสามารถของนักเรียน
ในฐานะองค์ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ
- ทรงพระกรุณาเสด็จทรงเป็นประธานในงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 20 ปี แห่งการก่อตั้งมูลนิธิฯ ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตบางนา ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ เมื่อปี พ.ศ.2545ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท เพื่อสมทบกองทุน “ กัลยาณิวัฒนา ” รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,000,000 บาท
- ทรงพระกรุณาเมตตาให้เยาวชนผู้รับทุนมูลนิธิฯ ทั่วประเทศ 100 คน ที่เข้าร่วมปฏิบัติธรรมถวายพระกุศล
80 พรรษา แด่พระองค์ท่านเข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายพระพร เมื่อปี พ.ศ.2546 ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเข็ม “ พุ่มเพชร ” สัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ แก่ประธานคณะกรรมการอุปการะเยาวชนประจำจังหวัดทั่วประเทศ (ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัด) เมื่อปี พ.ศ.2548 ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค
จากพระดำรัสที่พระราชทานแก่ประธานคณะกรรมการอุปการะเยาวชนประจำจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ของมูลนิธิฯ ที่ได้เข้าเฝ้าในครั้งนี้ แสดงให้ประจักษ์ถึงความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณอันแท้จริงของพระองค์ท่าน ที่ได้พระราชทานคำสอนด้วยการทรงปฏิบัติจริงเป็นแบบอย่าง โดยได้ทรงเล่าพระราชทานถึงความเป็นมาของการที่ทรงเป็นประธานก่อตั้งมูลนิธิฯ ด้วยทรงชื่นชมใน หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ผู้ริเริ่มงานนี้ว่าเป็นคนทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงมากมาย แต่เมื่อทรงช่วยงานหม่อมงามจิตต์ฯ ในการก่อตั้งมูลนิธิฯ รวมทั้งทรงช่วยให้ได้รับการยกเว้นเรื่องภาษีดอกเบี้ย และการลดหย่อนภาษีแก่ผู้บริจาคเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว อย่างไรก็ดี ได้ทรงติดตามให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ตลอดมา ทรงมีพระดำรัสว่า “ จากการถวายงานของคุณหญิงสุชาดา ได้รับคำตอบเมื่อถามถึงเยาวชนผู้รับทุนมูลนิธิฯ ว่า ‘ เด็กของมูลนิธิฯ ก็มีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ’ อย่างนี้ก็ทำงานร่วมกันได้ จึงได้รับเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ ถ้าตอบว่า ‘ เด็กดีทั้งหมด ’ ก็คงไม่พูดอะไรต่อไป ” ผู้ได้รับฟังต่างสำนึกในพระกุรณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ เนื่องจากได้ซาบซึ้งตระหนักแก่ใจว่า พระองค์ได้ทรงสอบเรื่องความจริงใจในการทำงาน และการพูดความจริงย่อมมีผลดีแก่การดำเนินงานได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องด้วย
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เยาวชนผู้รับทุนมูลนิธิฯ ทั่วประเทศ 100 คน ที่ได้รับคัดเลือกมาทัศนศึกษา เข้าเฝ้าถวายพระพร เมื่อปี พ.ศ.2548 ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา
- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ประธานจัดพิมพ์หนังสือ “ พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู ” นำคณะฯ เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือชุดปฐมฤกษ์ จำนวน 16,999 เล่ม เมื่อปี พ.ศ.2548 ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา และได้ทรงนำหนังสือ “ พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู ” ไปพระราชทานให้แก่คนไทยในประเทศอียิปต์ด้วย
- พระราชทานทุนทรัพย์ 100,000 บาท เพื่อทรงเป็นเจ้าภาพเทศน์มหาชาติมหากุศลเฉลิมพระเกียรติถวายพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2550
ตลอดระยะเวลา 25 ปี ของมูลนิธิฯ พระองค์ทรงมีพระเมตตาสนพระทัยในกิจกรรมของมูลนิธิฯ ทรงให้กำลังใจ ไว้วางพระทัยในการทำงานของมูลนิธิฯ รวมทั้งมีพระเมตตาต่อเยาวชนในพระอุปถัมภ์ แม้ว่าจะทรงมีพระภารกิจมากเพียงใดก็ตาม
ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 มูลนิธิฯ ได้ขอพระราชทานพระอนุญาตน้อมเกล้าฯ แสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณถวายแด่พระองค์ท่าน ดังนี้
1. จัดปฏิบัติธรรมเยาวชนผู้รับทุนมูลนิธิฯ ทั่วประเทศ 85 คน จาก 54 จังหวัด เมื่อวันที่ 21-29 เมษายน
พ.ศ.2550 ณ วัดเทพประทาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
2. จัดทำโครงการสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลในนานาประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทาน พระอนุญาตอัญเชิญพระฉายาลักษณ์ พร้อมด้วยพระนามาภิไธยย่อ กว. และจุลมงกุฎ จัดทำเข็มกลัด เพื่อมอบแก่ ผู้อุปถัมภ์ และผู้ร่วมโดยเสด็จพระราชศรัทธาสมทบกองทุนเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลฯ ตั้งแต่ 1 กองขึ้นไป กองละ 1 องค์ (1 กอง เป็นเงิน 84,000 บาท เท่าจำนวน 84,000 พระธัมมขันธ์ หลักธัมม์ในพระไตรปิฎก)
3. จัดสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ณ วัดเทพประทาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี โดยพระราชทานนามอาคารว่า “ อาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ 84 พรรษา ในปี พ.ศ.2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ” โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร วันพฤหัสบดีที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙
.๐๐ น. โดยสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง ๑๑ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้ทำการถ่ายทอดสด
คณะกรรมการมูลนิธิฯ ต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานก่อตั้ง และองค์ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิฯ เป็นล้นพ้นยิ่งนัก และขอจดจำรำลึกตรึงใจในพระเมตตาด้วยความจงรักภักดีตราบกาลนาน
พระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนเยาวชนผู้รับทุนมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ไปปฏิบัติธรรม ณ วัดเทพประทาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เพื่อถวายพระกุศลแด่พระองค์ท่านในวโรกาส ๘๐ พรรษา เข้ธซเธงเธฑเธ”เน |